นศ.สถาปัตย์เหมารางวัลในการประกวดการแข่งขันโครงการในกิจกรรม “Waste to Energy Hackathon”

ขอแสดงความยินดีกับ นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ
รองชนะเลิศและรางวัลชมเชย ในการแข่งขัน “Waste to Energy Hackathon” เพื่อเฟ้นหาโครงการสร้างสรรค์ที่จะไปประยุกต์ใช้จริงในย่านศรีจันทร์ พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งใหม่ของจังหวัดขอนแก่นในระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม 2563 ณ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ผ่านมา

ผลการแข่งขัน “Waste to Energy Hackathon” 
รางวัลชนะเลิศ เงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร  ได้แก่ ทีม JUNK-ZY นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นางสาวชาลิสา นนทคุปต์ นายอนุชา ชาวกระลึม  นางสาวโอปอ คบมิตร  และนายอภิชิต ทองพูลพัฒนกุ

รางวัลรองชนะเลิศ  เงินรางวัลทีมละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม PETE to Pet นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายธีรวัฒน์ นามแสง  นายวทัญญู แก้ววังชัย นายนัฐพงศ์ ศีระจิตร์

และทีม Thingder.io นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  นายธนพล ภิรมย์ไชย และนายวิริยะ ดำรงกุล

รางวัลชมเชย เงินรางวัลละ 5,000 บาท พร้อมเกียรติบัตร ได้แก่ ทีม 8 minutes  นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น  นายรังสรรค์ ศรีตะวัน นายฐานชน บุผู นายหฤษฎ์ น้าเจริญ

นางสาวชาลิสา นนทคุปต์ นายอนุชา ตัวแทนของทีม JUNK-ZY  ได้ให้สัมภาษณ์ว่า เมื่อทราบข่าวการประกวด Waste to Energy นี้จากอาจารย์ในคณะพวกเราก็รวมกลุ่มกันเพื่อที่จะเข้าร่วมงานนี้มีนักศึกษาหลากหลายคณะเข้าร่วมกิจกรรมนี้ และคนทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม โดยทั้งหมดมี 8 ทีมหลัก ๆ ค่ะ ซึ่งจะมีการ workshop  2 วัน วันแรก คือการฟังบรรยายเรื่องการจัดการกับขยะ แนวคิดธุรกิจเรื่องขยะ เรื่องย่านศรีจันทร์ และเริ่มคิดไอเดีย วันที่สอง คือการคิดแผนธุรกิจและ pitching เพราะฉะนั้นพวกเราก็เลยต้อง brain storm กันอย่างตื่นเต้นพอสมควรค่ะ พวกเราเลยตัดสินใจลงไปสำรวจพื้นที่ตลาดใน มข. ว่าคนที่มาตลาดเขามีพฤติกรรมแบบไหน จัดการกับขยะยังไง ซึ่งคนพาพวกเราไปก็คืออาจารย์นี่แหละค่ะ อาจารย์เป็นแรงซัพพอร์ทที่ดีมาก ๆ ของพวกเราเลยค่ะ เวลาที่เราเสนอไอเดียอะไร อาจารย์จะคอยแนะนำว่ามันเวิร์กมั้ย เป็นไปได้มั้ย มีความเป็นไปได้อะไรอีกบ้าง คอยให้กำลังใจอยู่เสมอ จัดหาพวกอุปกรณ์ให้พวกเราเต็มที่ นอกจากอาจารย์แล้วยังมีพี่ staff ในงานที่คอยให้คำแนะนำดี ๆ อยู่เสมอเกี่ยวกับทิศทางการออกแบบและทิศทางความเป็นไปได้    ตัวโครงการที่ไปเข้าร่วม Workshop และประกวดด้วยเขาชื่อว่า “Waste to Energy” หรือก็คือ “การแปลงขยะไปเป็นพลังงาน” โดยตัวโครงการนี้จะถูกนำไปติดตั้งอยู่ในย่านศรีจันทร์ ย่านสร้างสรรค์ของขอนแก่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต พวกเราก็เลยตัดสินใจตั้งชื่อโครงการของเราว่า JUNK-ZY ค่ะ โดยคำว่า JUNK ที่แปลว่าขยะ สอดคล้องกับกิจกรรมของงานที่เกี่ยวกับการคัดแยกขยะ และหากฟังโดยรวมแล้วการออกเสียงก็มาจากภาษาอีสานคำว่า “จั๊งซี่” ที่แปลว่า “อย่างนี้ไงล่ะ!” โดยตัว JUNK หรือขยะที่เราจะให้คนมาแยกทิ้งขยะเนี่ย หลังจากทิ้งแล้วจะกลายเป็น Energy ให้ตัวละครในเกมค่ะ ก็คือตั้งใจจะสื่อว่า การแยกขยะเนี่ยมันสามารถแปลงไปเป็นพลังงานให้คุณได้ด้วยนะ ทั้งในเกมและชีวิตจริงทางธุรกิจในงานของเราด้วยค่ะ  ทีมเราจึงมีแนวคิดว่า เรื่องการทิ้งหรือแยกขยะเราเห็นได้ทั่วไปอยู่แล้ว ทั้งถังขยะแยกสีตามสถานที่ต่าง ๆ ทั้งป้ายรณรงค์ ข่าวหรือข้อมูลที่เราได้รับเกี่ยวกับเรื่องนี้มีอยู่เต็มไปหมด คนที่ตระหนักถึงปัญหาข้อนี้ก็มีอยู่จริง แต่ว่าเพราะว่ามันเป็นเรื่องของสิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องของส่วนรวมที่ต้องใช้ความร่วมมือของคนจำนวนมาก หลายคนเลยอาจจะไม่ได้สนใจจะทิ้งหรือแยกมันจริง ๆ  คือขยะมันสามารถเอาไป recycle เอาไปทำเป็นพลังงานไฟฟ้าหรือพลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ ได้ด้วย เอาไปทำอะไรอย่างอื่นได้เยอะกว่าที่เราคิด มันอาจมาจากความคิดว่า ‘มันไม่ใช่เรื่องของเรา’ ‘ก็ไม่เห็นมีใครทำ’ ‘เดี๋ยวคนอื่นก็จัดการเองแหละ’ ‘น่าเบื่อ เหนื่อยจะทำ’ ‘มันเป็นเรื่องไกลตัว’ หรืออาจจะเป็นเพราะไม่รู้ประโยชน์ของการแยกขยะจริงๆ ก็ได้ เพราะฉะนั้นคนที่ลงมือทำจริงเลยน้อย ดังนั้นแนวคิดหลักของกลุ่มพวกเราในการออกแบบบริหารจัดการขยะก็คือการที่เราคิดออกแบบทำยังไงให้ผู้คนสามารถ enjoy ไปกับการคัดแยกขยะให้ได้ จะดึงความสนใจของผู้คนให้แยกขยะยังไง  โดยเทียบกับปัจจุบันที่ทุกคนในสังคมอยู่ในยุคดิจิตอล เราจึงออกแบบให้การคัดแยกขยะเปรียบเสมือนเกมบนมือถือ   และคิดว่าคิดว่าน่าจะเป็นการออกแบบเกมที่มาใช้กับการคัดแยกขยะซึ่งแตกต่างจากกลุ่มอื่นๆ ค่ะ ที่อาจจะเป็นการรับแต้ม สะสม point สิทธิพิเศษที่จะนำไปใช้จ่ายต่างๆ ขณะที่กลุ่มเรามุ่งเน้นไปที่ทำให้คนรู้สึกสนุกไปกับการคัดแยกขยะด้วยการออกแบบตัวเกมที่เปรียบเสมือนค่าพลังงาน ที่การคัดแยกขยะแต่ละครั้งมีผลต่อตัวเกม ตัวเกมของเราถ้าให้คนสามารถสนุกแล้วก็แชร์ไปกับคนอื่นๆ ได้ในการที่เค้าขัดแยกขยะในแต่ละครั้งมันจะเป็นวิธีการที่ทำให้คนเรารู้สึกไม่เหนื่อย ไม่เบื่อที่จะทำมันและกระตุ้นให้อยากทำมากกว่า ซึ่งแนวคิดนี้เป็นเหตุผลให้กรรมการสนใจงานและให้เราเป็นผู้ชนะเลิศ ค่ะ และต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ในคณะ  อาจารย์อรรคพล ล่าม่วง  อาจารย์นิพพิชฌน์ ฉันทะปรีดา  ที่ได้ดูแลตลอดทั้งการแข่งขัน  และรศ. ดร. นพดล ตั้งสกุล  ซึ่งเป็นทีมที่ปรึกษาของทีมจากสาขาสถาปัตยกรรมศาสตร์ ในการแข่งขันโครงการในกิจกรรม “Waste to Energy Hackathon”

ซึ่งโครงการนี้ทาง KKU Maker Space สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ TCDC Khon Kaen FabCafe Bangkok พร้อมพันธมิตรมากมายจับมือกันจัดกิจกรรม “Waste to Energy Hackathon” เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ สร้างนวัตกรรมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่จัดโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และ สำนักงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA)  โดยการมีการแข่งขัน “Waste to Energy Hackathon” เพื่อเฟ้นหาโครงการสร้างสรรค์ที่จะไปประยุกต์ใช้จริงในย่านศรีจันทร์ พื้นที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งใหม่ของจังหวัดขอนแก่น ในระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม 2563 ณ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งทีมที่ได้รางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศจะเป็นตัวแทนภาคตะวันออกเฉียงเหนือในการแข่งขันระดับประเทศต่อไป

ขอขอบคุณข้อมูล/ภาพ : สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข่าว : กรรณภัสส์ สิริเกียรติ

Scroll to Top